เจาะลึก “ภาวะผมร่วง” หลังติดโควิด-19 หายเองได้?
สารบัญของบทความ
ปัญหา “ผมร่วงหลังติดโควิด-19” ผลเสียจากการติดโควิดที่ต้องรู้
หลังจากติดเชื้อโควิด-19 หลาย ๆ คนมักมีอาการหายใจลำบาก การรับกลิ่นบกพร่องนานกว่า 4 เดือน นับตั้งแต่เริ่มมีอาการ และยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่มีอาการผมร่วงหลังติดโควิด-19 สังเกตได้ง่าย ๆ จะมีลักษณะผมร่วงทั่วศีรษะ ไม่ได้ร่วงเป็นหย่อม โดยเกิดจากหลายปัจจัยที่เข้ามาส่งผลต่อร่างกาย
ภาวะผมร่วงหลังติดโควิด-19 พบได้ง่ายหลังจากรับการรักษาไปประมาณ 2-3 เดือน โดยเป็นอาการเรื้อรังหลังติดโควิด เกิดอาการผมร่วงหนักมากผิดปกติเกินถึงวันละ 100 เส้น ยิ่งเครียดก็ยิ่งทำให้ผมยิ่งร่วงหนักมาขึ้นไปอีก ลองมาทำความเข้าใจและรู้จักทางแก้ไขด้วยกัน
รู้จักภาวะ Long COVID
Long COVID เป็นผลกระทบระยะยาวจากการติดเชื้อโควิด-19 มีลักษณะของอาการที่ร่างกายยังคงหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19 แต่ละคนก็จะมีอาการแตกต่างกัน จากผลสรุปของงานวิจัย ระบุว่า 3 อาการที่พบมากที่สุด ได้แก่
- อันดับที่ 1 อาการปวดศีรษะ ค่าเฉลี่ยร้อยละ 44
- อันดับที่ 2 สมาธิสั้นลง ค่าเฉลี่ยร้อยละ 27
- อันดับที่ 3 ผมร่วง ค่าเฉลี่ยร้อยละ 25
หนึ่งในปัญหาที่มักพบหลังจากติดเชื้อโควิด มักเกิดในผู้หญิงได้มากกว่าผู้ชาย คือ “อาการผมร่วงแบบฉับพลัน” หลังจากติดเชื้อโควิด จริง ๆ คนเราสามารถผมร่วงจากโรคอะไรก็ได้ ที่มีความเครียดสูง เช่น โรคไข้ไทฟอยด์ โรคไข้เลือดออก จนผมร่วงและไม่ยอมขึ้น ก็สามารถเจอได้เวลาที่ร่างกายเจ็บป่วยรุนแรง โดยเฉพาะไข้สูง ๆ จะทำให้มีภาวะผมร่วงได้ง่ายขึ้น รวมทั้ง สาเหตุจากความเครียด
เคยได้ยินคำว่า “เจอผีแล้ว จับไข้หัวโกรน” เป็นการผลัดเส้นผม จากอาการช็อคของร่างกายจากความเครียด ทำให้เส้นผมไม่สามารถเจริญเติบโตได้ และงอกขึ้นมาใหม่ หรือทางการแพทย์เรียกว่า “ผมร่วงทั่วศีรษะ (Telogen Effluvium)” จากวงจรของเส้นผม ยิ่งเครียดจะยิ่งผมร่วง
ผลกระทบจากการทานยารักษาโควิด-19 มีอะไรบ้าง ?
คนมักเข้าใจผิดว่า ผมร่วงหลังติดโควิดเป็นผลกระทบจากการกินยารักษาโควิด-19 แต่ความจริงผลข้างเคียงจากการทานยาเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อวงจรเส้นผม ซึ่งยารักษาโควิด-19 มีการแยกตามระดับความรุนแรงของอาการหรือกลุ่มสี โดยแบ่งออกเป็น
- ยาฟ้าทะลายโจร สำหรับ “ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว” เป็นกลุ่มคนที่มีไม่มีอาการ หรืออาจมีอาการแค่เพียงเล็กน้อย ผลข้างเคียง คือ อาจรู้สึกเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อ่อนเพลีย
- ยาฟาวิพิราเวียร์ สำหรับ “ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง”เริ่มมีอาการไข้สูง เป็นผู้ที่มี 7 โรคเรื้อรัง เช่น ความดัน เบาหวาน โรคอ้วน โรคไต โรคหัวใจ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผลข้างเคียงคือ ตับทำงานหนัก จนอาจเกิดการอักเสบ และอาเจียน
- ยาเรมเดซิเวียร์ สำหรับ “ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง” เริ่มอาการหนัก ไม่รู้สึกตัว กินยาไม่ได้ ผลข้างเคียงคือ ตับทำงานหนัก จนเกิดภาวะของตับอักเสบ ความดันต่ำ และคลื่นไส้ อาเจียน
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) และโลพินาเวียร์และริโทนาเวียร์ (Lopinavir / Ritonavir) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักมาก ปอดอักเสบรุนแรง เพื่อลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการผมร่วง
จากการวินิจฉัยของแพทย์ พบว่า การติดเชื้อโควิด-19 ก่อให้เกิดความเครียดสะสมเป็นเวลานาน เมื่อร่างกายเจ็บป่วยแบบรุนแรง จะเกิดภาวะ Lock Down ของร่างกาย คือ ร่างกายจะทำงานได้ไม่เต็มที่ รวมถึงการเจริญเติบโตของเส้นผมด้วย
นอกจากนี้ ปัจจัยจากการทำงานของต่อมไทรอยด์ การขาดสารอาหาร และความเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลต่อวงจรเส้นผมให้ถูกกระตุ้นให้หลุดร่วงเร็วกว่าปกติแบบฉับพลัน หรือ เรียกว่า “Telogen Effluvium”
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นผม ยืนยันว่า ภาวะผมร่วงทั่วศีรษะแบบฉับพลัน (Telogen Effluvium) ไม่ได้มีลักษณะผมร่วงเป็นหย่อม แต่จะร่วงแบบกระจายทั้งศีรษะ เกิดจากรากผมชั้นในลึกสุด ได้ถูกกระตุ้นให้เข้าสู่ระยะ Telogen เร็วกว่าปกติ จากโรคทางร่างกายและจิตใจ เช่น ความเครียด ไข้สูง ภาวะช็อค การผ่าตัด การขาดสารอาหาร ขาดวิตามินหรือแร่ธาตุบางชนิด โรคไทรอยด์ และการทานยาบางชนิด
ลักษณะอาการผมร่วงหลังติดโควิด-19
ลักษณะอาการผมร่วงหลังติดโควิด เส้นผมจะมีการร่วงทั้งศีรษะ ไม่ได้ร่วงเป็นหย่อม ๆ หรือเฉพาะจุดอย่างเจาะจง โดยจะมีผมร่วงมากกว่าปกติตั้งแต่วันละ 100 เส้น จนถึงขั้นรุนแรงสูงสุดได้ถึง 1,000 เส้น และเส้นขนบริเวณส่วนอื่นของร่างกายก็มีโอกาสร่วงได้ด้วย
บางคนมีอาการแสบ คันหนังศีรษะ แต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ โดยส่วนใหญ่ช่วงที่เป็นโควิด ตอนนั้นเส้นผมจะยังไม่ร่วง จะมาร่วงหลังจากหายเป็นโควิด 1 – 3 เดือน ถึงจะผมร่วง
ดังนั้น อาการผมร่วงจากการติดเชื้อโควิดไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่อง “ฮอร์โมน” ของร่างกาย แต่เกี่ยวข้องกับวงจรของเส้นผมถูกทำให้ผิดปกติ จากปัจจัยต่าง ๆ จากโรคทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้ง การทานยาบางชนิด และสามารถหายเองได้ แต่ใช้เวลานานมาก หลายเดือน อาจจะ 10 เดือน
เคล็ดลับการแก้ปัญหาผมร่วงหลังติดโควิด-19
การรักษาอาการผมร่วงจากสาเหตุนี้มักจะใช้เวลานานแล้วค่อย ๆ ดีขึ้น ดังนั้น การหาผลิตภัณฑ์รักษาผมร่วงจากภายนอกจะไม่ได้ช่วยลดอาการผมร่วงได้ เช่น ผลิตภัณฑ์โทนิค แชมพู แต่ควรต้องบำรุงจากภายในสู่ภายนอก
การแก้ผมร่วง แนะนำให้ทานวิตามินหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ส่งผลต่อการสร้างโปรตีนของเส้นผม เพื่อการกระตุ้นให้เซลล์รากผมกลับมางอกได้เร็วขึ้น ได้แก่ ธาตุเหล็ก (Iron) สังกะสี (Zinc) วิตามินดี (Vitamin D) วิตามินบี 1, 5,7 และ 12 (Vitamin B) รวมทั้ง ทานโปรตีน (Protein) และกรดอะมิโนแอซิด (Amino Acid) เพื่อช่วยให้เส้นผมกลับมาดกหนาคืนสภาพเดิมได้รวดเร็วขึ้น
ซึ่งเส้นผมก็ต้องใช้เวลาเล็กน้อย ก็เหมือนกับสภาพจิตใจคนเราที่ไม่ปกติก็ต้องใช้เวลา เช่นเดียวกันกับเส้นผมที่ต้องอาศัยระยะเวลา พยายามทำให้ตัวเองหายเครียดและที่สำคัญต้องออกกำลังกาย เพราะจะทำให้ร่างกายและจิตใจของเราฟื้นฟูได้ดีขึ้น และหลีกเลี่ยงการทานยาที่กระตุ้นให้ผมร่วงมากผิดปกติ เช่น ยาความดันโลหิตสูงชนิด Beta Blockers, ยากันเลือดแข็งตัว
สรุป
ผมร่วงหลัดติดเชื้อโควิด-19 เป็นอาการเรื้อรังหลังติดโควิด เรียนว่า “ภาวะผมร่วงทั่วศีรษะ” (Telogen Effluvium) แบบฉับพลัน โดยจะมีลักษณะผมร่วงมากกว่าวันละ 100 เส้น จนสูงถึง 1,000 เส้น อาจเกิดหลังจากหายเป็นโควิดประมาณ 1 – 3 เดือน แต่เส้นผมยังสามารถกลับมาคืนสภาพปกติได้โดยการทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงจากภายใน เช่น ทานวิตามินและแร่ธาตุที่กระตุ้นการงอกใหม่ของเส้นผม และดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลัง รวมทั้ง การพักผ่อนที่เพียงพอ
อ้างอิงข้อมูลจาก